จากหัวใจหลักของการพัฒนาวัดที่ต้องการพัฒนาเป็นพื้นที่เพื่อการเรียนรู้สุขภาวะของเมือง โดยเริ่มต้นจากแนวคิดการพัฒนาพื้นที่สามส่วนได้แก่ ๑) พื้นที่ทางกายภาพที่เหมาะสมสัปปายะ ๒) พัฒนาพื้นที่ทางสังคมและการเรียนรู้ให้กับสังคมและชุมชน และ ๓) พัฒนาพื้นที่ทางจิตใจและปัญญาที่ทำให้ผู้คนที่เข้าวัดได้มีโอกาสในการเรียนรู้พระพุทธศาสนาเพื่อพัฒนาตนเอง
จากการทำงานตลอดระยะเวลา ๓ ปีที่ผ่านมา วัดสุทธิวรารามได้ดำเนินการพัฒนาวัดตามแผนงานเพื่อตอบโจทย์เป้าหมายที่วางไว้ทั้งสามประการ เกิดเปลี่ยนแปลงที่เป็นรูปธรรมอย่างต่อเนื่อง ทั้งในด้านของกายภาพที่เป็นการพัฒนาพื้นที่ส่วนต่าง ๆ ของวัด เพื่อรองรับและริเริ่มการจัดกิจกรรมธรรมะที่สมสมัย ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นพบว่าญาติโยมกลับเข้าวัดมากขึ้น เริ่มเกิดเครือข่ายการทำงานและจิตอาสาที่เข้ามาช่วยงานวัดในด้านต่าง ๆ เกิดการต่อยอดกิจกรรมการเรียนรู้สุขภาวะในมิติต่าง ๆ
ผลลัพธ์ด้านกายภาพ
๑. งานผังแม่บท ด้วยแนวคิดพลิกฟื้นวัดให้กลับมาเป็นพื้นที่ของชุมชนอีกครั้ง กำหนดแนวทางในการพัฒนาวัดและลงมือทำจริงตามแผนที่ได้วางไว้ ผ่านการมีส่วนร่วมของพุทธบริษัททั้ง ๔
๒. งานปรับปรุงก่อสร้างอาคาร เก็บรักษาอาคาร “ศาลา ณ สงขลา” ซึ่งเป็นอาคารที่ทรงคุณค่าเอาไว้ให้สามารถใช้งานได้อย่างสมประโยชน์คู่วัด ปรับปรุงศาลาอภิธรรม ๔ ชั้น ให้เป็นพื้นที่ “ศูนย์เรียนรู้พระพุทธศาสนาและการพัฒนาสังคมวัดสุทธิวราราม” ที่เปิดโอกาสให้คน ชุมชน โรงเรียน ได้เข้ามาใช้งาน สร้างงานพุทธศิลป์ในอุโบสถเพื่อให้เป็นสถานที่เรียนรู้ทางจิตใจและปัญญา
๓. งานปรับปรุงภูมิทัศน์ คืนพื้นที่สีเขียวให้กับเมืองโดยการทุบกำแพงแก้วปลูกต้นไม้รอบอุโบสถ ปลูกต้นไม้ใหญ่ให้ร่มเงาภายในวัดเพื่อสร้างบรรยากาศให้ร่มรื่นสัปปายะ
ผลลัพธ์ด้านกิจกรรม
๑. สร้างกิจกรรมธรรมะร่วมสมัย เชื่อมโยงบ้านวัดโรงเรียน ฟื้นฟูบทบาทหลักของวัดผ่านกิจกรรมตักบาตรคนเมืองที่จัดอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่เดือนสิงหาคม ๒๕๕๙ กิจกรรมดูหนังหาแก่นธรรมที่สร้างการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ธรรมะผ่านภาพยนต์ กิจกรรมเพลินธรรมนำชมพุทธศิลป์ในอุโบสถ
๒. ริเริ่มระบบเครือข่ายจิตอาสาผ่านโรงเรียน ให้นักเรียนได้ใช้เวลาในการทำจิตอาสาภายในวัด ส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างเด็กและผู้ปกครอง ตลอดจนได้เริ่มเข้ามีส่วนช่วยดึงให้ชุมชนโดยรอบกลับเข้าวัดอีกครั้ง
๓ ส่งเสริมให้เกิดกิจกรรมการเรียนรู้ในรูปแบบต่าง ๆ โดยเข้าไปมีส่วนร่วมในการวางแผนขับเคลื่อนงานศูนย์เรียนรู้ของวัด เชื่อมโยงเครือข่ายที่มีศักยภาพเข้ามาร่วมจัดกิจกรรมสร้างสรรค์รูปแบบต่าง ๆ ที่เหมาะสมกับกลุ่มคนที่เข้าวัด เช่น กิจกรรมการปักผ้าภาวนา ร่วมกับกลุ่มชีวิตสิกขาภาคี